ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ-โลจิสติกส์ ชงรัฐดัน “ชิมช้อปใช้ดิจิทัล” – ยกเว้นภาษีผู้ค้าเริ่มต้น

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

(4 กันยายน 2563) ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ดิจิทัล ซึ่งประกอบไปด้วย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ ที่เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหารือ และเสนอแนะแนวทาง มาตรการช่วยเหลือและผลักดันผู้ประกอบการในกลุ่มดิจิทัล โดยใช้เวลาหารือราว 1 ชั่วโมง

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรืออีคอมเมิร์ซ กล่าวว่า ได้เสนอให้นายกฯ ยกเว้นภาษีกับผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซในการค้าขายในระยะเริ่มต้น โดยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้เติบโตก่อนสักระยะ ถึงค่อยดำเนินการเก็บภาษี รวมถึงการสนับสนุนส่วนลดค่าขนส่งให้กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายย่อยที่เพิ่งเริ่มต้นทำอีคอมเมิร์ซด้วย

โดยปัจจุบันยอดขายอีคอมเมิร์ซ เทียบกับมูลค่าค้าปลีกโดยรวมในประเทศไทยมีสัดส่วนแค่ประมาณ 2% ขณะที่ในจีนการค้าออนไลน์มีสัดส่วนถึง 24% ดังนั้นการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของไทยจึงมีโอกาสเติบโตเป็น 10 เท่าได้ในอนาคตอันใกล้


ดังนั้นเพื่อพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยให้พัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน สมาคมฯ เสนอภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการปั้นผู้ขายออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้ทำงานร่วมกับนักขายออนไลน์มือโปร สร้างผลงานพัฒนานักขายออนไลน์เพิ่มรายได้จากศูนย์ เป็น 30,000 บาทต่อเดือนจำนวนมากกว่า 500 ราย โดยหากมีการสนับสนุนจากภาครัฐคาดว่าสามารถขยายผลได้อีกถึง 100 เท่า และเห็นผลใน 6 เดือน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม นายธนาวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมอีคอมเมิร์ซของไทยปีนี้ยังเติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่ต่ำกว่า 20-30% จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ทำให้ช่องทางออนไลน์เป็นตลาดกลางของผู้ซื้อ และผู้ขาย

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง TARAD.COM และกรรมการสมาคมอีคอมเมิร์ซ กล่าวว่า ภาครัฐควรออกนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการ หรือตัวกลาง ที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยนำสินค้าไทยออกไปบุกตลาดต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ ออกนโยบายสนับสนุนพิเศษออนไลน์ นอกจากนี้รัฐบาลควรทำโครงการ “ชิม ช้อป ใช้ ดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมการซื้อสินค้าออนไลน์ และส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าออนไลน์มากขึ้น

” 3 เรื่องหลักๆ ที่ผมได้นำเสนอไป คือ 1. การปรับคณะกรรมการอีคอมเมิร์ซแห่งชาติ ให้บูรณาการมากขึ้น นำเอกชนเข้าไปร่วมทำงานมากขึ้น 2.การสร้างและสนับสนุนผู้ช่วย (Enabler) ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ออนไลน์ และพาออกไปค้าขายนอกประเทศให้มากขึ้น 3.นโยบายการสนับสนุนจากรัฐหลายๆ ด้าน เช่น ภาษี, ชิมช้อปใช้ ดิจิทัล, การกระตุ้นให้ใช้ E-Tax Invoice” นายภาวุธ กล่าว
นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรช่วยผู้ประกอบการไทยโดยการร่วมพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้เบื้องต้นทางด้านอีคอมเมิร์ซ อยู่แล้วบ้าง หรือมีความสามารถ เอามาต่อยอดเพื่อช่วยให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น และขยายกลุ่มเครือข่าย กระจายตัวออกไปในธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้นภาครัฐควรร่วมสนับสนุนเอกชนในการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้มีแพลตฟอร์มที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

นายผรินทร์ สงฆ์ประชา ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง NASKET กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซ จะเป็นช่องทางสำคัญของสินค้าไทยในเวทีโลก ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของโลกมีแนวโน้มที่จะมีผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2-3 รายจะกุมตลาดถึง 80% ดังนั้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย จึงอยากเสนอให้มีการจัดตั้ง ภาคีอีคอมเมิร์ซเพื่อคนไทย

ทางด้าน สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย และ สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ได้นำเสนอว่าธุรกิจโลจิสติกส์ มีศักยภาพสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศไทยถึงสามแสนล้านบาทต่อปี หากภาครัฐให้การสนับสนุนในสามด้านคือ 1.จัดทำแผนพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ให้เป็นรายได้หลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 2.จัดตั้ง “สำนักงานโลจิสติกส์แห่งชาติ” และ 3.ออกมาตรการส่งเสริมความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ เช่น ให้ซอฟต์โลน มาตรการภาษี และอื่น ๆ

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/896536