“นายกฯ” มอบนโยบายจัดทำงบฯ ปี’65 ขับเคลื่อนประเทศ พ้นวิกฤตโควิด-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

(11 ม.ค.64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ว่า 1.แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จะมีความต่อเนื่องจากงบประมาณปี พ.ศ.2564 โดยยังคงเป็นงบประมาณแบบขาดดุลในจำนวนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัย และความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นจากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อย่างปกติตามศักยภาพ

ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากวงเงินงบประมาณรายจ่าย ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ซึ่งมีจำนวน 3,285,962.5 ล้านบาท เป็นจำนวน 185,962.5 ล้านบาท เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ประมาณการว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการการจัดเก็บในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 277,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับการดำเนิน มาตรการด้านภาษีของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว รวมถึงการชะลอการดำเนินมาตรการภาษี บางมาตรการภายใต้แผนการปฏิรูปภาษี ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 91,037.5 ล้านบาท

จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องขอความร่วมมือจากท่านทั้งหลายดำเนินการ 1) บริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้อง กับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน ให้มากขึ้น เช่น การประชุม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ทางออนไลน์ และรายจ่ายประจำที่ยังไม่มีความจำเป็น เร่งด่วน สามารถชะลอการดำเนินการออกไปได้ ขอให้ชะลอไปก่อน นอกจากนั้น ควรประเมินผลสำเร็จ ของการดำเนินงานว่าสามารถส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด หากแผนงาน/ โครงการใดไม่สามารถก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้ก็ควรยกเลิก เพื่อนำงบประมาณไป ดำเนินการในแผนงาน/โครงการอื่นต่อไป

2) ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ ในการดำรงชีวิต และลดความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังบุคคลอื่นและชุมชน 3) ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำรวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลของการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

4) จัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยหน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณ ต้องพิจารณานำเงินดังกล่าว เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ มาใช้ในการดำเนินภารกิจของหน่วยงาน เป็นลำดับแรก ควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น รวมทั้งต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการลงทุน เช่น การร่วมลงทุน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภายใต้ข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณรายจ่ายของประเทศ และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายกฯ กล่าวว่า 2.ประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี พ.ศ.2565 ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ 4 ประเด็น ที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประกอบด้วย

1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) โดยส่งเสริมการจ้างงาน ทั้งการจ้างงานใหม่ในพื้นที่ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ รักษาการจ้างงานในสาขาที่ได้รับผลกระทบ และการสร้างงานที่สอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจในอนาคต การช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพ SME แก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ส่งเสริมการปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ สนับสนุนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน/เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ และปรับโครงสร้างปัจจัยแวดล้อม การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังเมืองหลักและเมืองรอง ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ สร้างตำแหน่งงานในภูมิภาค และสร้างจุดเด่นทางเศรษฐกิจของแต่ละภาค/กลุ่มจังหวัด