ชนกรรมาชีพ

ศัพท์เศรษกิจ

ชนกรรมาชีพ (proletariat) เป็นคำใช้อธิบายชนชั้นลูกจ้าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานอุตสาหกรรม) ในสังคมทุนนิยมซึ่งครอบครองมูลค่าทางวัตถุ (material value) ที่สำคัญอย่างเดียว คือ พลังแรงงาน (labour-power) หรือความสามารถในการทำงาน สมาชิกของชนชั้นนี้เรียก ชนกรรมาชีพ

การใช้ในทฤษฎีลัทธิมาร์ก

ทฤษฎีลัทธิมากซ์ใช้คำว่า ชนกรรมาชีพ กับชนชั้นทางสังคมซึ่งไม่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและสามารถยังชีพได้ด้วยวิธีเดียว คือ ขายพลังแรงงานของตน เพื่อให้ได้ค่าจ้างหรือเงินเดือน ชนกรรมาชีพเป็นลูกจ้าง ทว่าบ้างอาจเรียกผู้ได้รับเงินเดือนว่า salariat อย่างไรก็ดี สำหรับมากซ์ ลูกจ้างอาจได้เงินเดือนแทนที่จะได้ค่าจ้างโดยตัวเอง ลัทธิมากซ์มองชนกรรมาชีพและชนชั้นกระฎุมพี (bourgeoisie) ว่าอยู่ในฐานะที่ขัดแย้งกัน เพราะคนงานปรารถนาให้ค่าจ้างของตัวให้สูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้โดยอัตโนมัติ ขณะที่เจ้าของและตัวแทนปรารถนาให้ค่าจ้าง (ราคา) ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ในทฤษฎีลัทธิมากซ์ ขอบเขตระหว่างชนกรรมาชีพกับชนชั้นนายทุนน้อย (petite bourgeoisie) บางส่วน ซึ่งอาศัยการจ้างตนเอง (self-employment) ณ รายได้ซึ่งเท่ากับหรือน้อยกว่าค่าจ้างปกติเป็นหลักแต่ไม่ใช่ทั้งหมด กับลุมเพนโพรเลทารีอัท (Lumpenproletariat) ซึ่งไม่อยู่ในการจ้างงานตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องนิยามชัดเจน ขณะที่มักเป็นการยากที่จะตัดสินว่าปัจเจกบุคคลอยู่ในชนชั้นใด จากจุดยืนของสังคมทั้งหมด การแบ่งชนชั้นนั้นไม่อาจแย้งได้ หลักฐานยืนยันว่ามีการแบ่งชนชั้นที่ง่ายที่สุด คือ การต่อสู้ระหว่างชนชั้น เช่น การนัดหยุดงาน แม้ลูกจ้างคนหนึ่งอาจไม่แน่ใจว่าตัวอยู่ในชนชั้นใดในความรู้สึกแห่งตน แต่เมื่อเพื่อนร่วมงานของเขานัดหยุดงาน ในทางวัตถุพิสัย (objectively) เขาถูกบังคับให้ปฏิบัติตามชนชั้นหนึ่ง (คือ เพื่อนร่วมงานของเขา หรือชนกรรมาชีพ) มากกว่าอีกชนชั้นหนึ่ง (คือ ชนชั้นกระฎุมพี) มากซ์กำหนดข้อแตกต่างชัดเจนระหว่างชนกรรมาชีพซึ่งเป็นคนงานได้เงินเดือน ซึ่งเขามองว่าเป็นชนชั้นก้าวหน้า กับลุมเพนโพรเลทารีอัท “ชนกรรมาชีพผ้าขี้ริ้ว” (rag-proletariat) คือ ผู้ยากจนที่สุดในสังคมและผู้ที่สังคมไม่ยอมรับ (outcast) เช่น ขอทาน สิบแปดมงกุฎ คนเต้นกินรำกิน นักแสดงขอทาน (busker) อาชญากรและโสเภณี ซึ่งเขามองว่าเป็นชนชั้นเสื่อม (retrograde) พรรคการเมืองสังคมนิยมมักมีความยุ่งยากต่อคำถามว่าพวกเขาควรแสวงการจัดระเบียบและเป็นตัวแทนของชนชั้นล่างทั้งหมด หรือเฉพาะชนกรรมาชีพลูกจ้าง

ตามลัทธิมากซ์ ทุนนิยมเป็นระบบซึ่งตั้งอยู่บนการแสวงหาประโยชน์จากชนกรรมาชีพโดยชนชั้นกระฎุมพี การแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวเกิดขึ้นดังนี้: คนงาน ซึ่งไม่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ต้องใช้ปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นเพื่อผลิต ผลคือ เพื่อหารายได้ประทังชีพ แทนที่จะจ้างปัจจัยการผลิตเหล่านั้น เขากลับถูกนายทุนจ้างและทำงานผลิตสินค้าหรือบริการให้ สินค้าและบริการเหล่านี้กลายเป็นทรัพย์สินของนายทุน ซึ่งไปขายที่ตลาด

ความมั่งคั่งที่ผลิตขึ้นส่วนหนึ่งถูกนำมาจ่ายเป็นค่าจ้างคนงาน (ต้นทุนแปรผัน) อีกส่วนหนึ่งใช้ทำปัจจัยการผลิตใหม่ (ต้นทุนคงที่) ขณะที่ส่วนที่สาม มูลค่าส่วนเกิน ถูกแบ่งระหว่างการหยิบฉวยส่วนตัวของนายทุน (กำไร) และเงินที่ใช้จ่ายค่าเช่า ภาษี ดอกเบี้ย ฯลฯ มูลค่าส่วนเกินแตกต่างกันระหว่างความมั่งคั่งที่ชนกรรมาชีพผลิตขึ้นผ่านงานของชนนั้น และความมั่งคั่งที่ชนกรรมาชีพบริโภคเพื่อยังชีพและให้แรงงานต่อบริษัทนายทุน มูลค่าส่วนเกินส่วนหนึ่งใช้เพื่อทำใหม่หรือเพิ่มปัจจัยการผลิต อาจเป็นในเชิงปริมาณหรือคุณภาพ (คือ มูลค่าส่วนเกินเปลี่ยนเป็นทุน) และเรียก มูลค่าส่วนเกินที่กลายเป็นทุน (capitalised surplus value) สิ่งที่เหลืออยู่ถูกนายทุนบริโภค

โภคภัณฑ์ที่ชนกรรมาชีพผลิตและนายทุนขายถูกคำนวณเป็นมูลค่าตามปริมาณแรงงานซึ่งรวบรวมอยู่ในนั้น สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นสำหรับกำลังแรงงานของคนงานเอง คือ มันถูกคำนวณเป็นมูลค่า ไม่ใช่สำหรับปริมาณความมั่งคั่งที่ผลิต แต่เป็นปริมาณแรงงานที่จำเป็นเพื่อผลิตและผลิตซ้ำ ฉะนั้น นายทุนจึงได้ความมั่งคั่งจากแรงงานของลูกจ้างตัว หาใช่การทำหน้าที่การเข้ามีส่วนร่วมของบุคคลในกระบวนการผลิต ซึ่งอาจไม่มีเลย หากเป็นการทำหน้าที่ของความสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายของทรัพย์สินต่อปัจจัยการผลิต นักลัทธิมากซ์แย้งว่า ความมั่งคั่งใหม่ถูกสร้างขึ้นผ่านแรงงานที่ใช้กับทรัพยากรธรรมชาติ

มากซ์แย้งว่าชนกรรมาชีพมีเป้าหมายเพื่อแทนที่ระบบทุนนิยมด้วยลัทธิเผด็จการโดยชนกรรมาชีพ ยุบความสัมพันธ์ทางสังคมที่รองรับระบบชนชั้น แล้วพัฒนาสู่สังคมคอมมิวนิสต์ซึ่ง “การพัฒนาแต่ละบุคคลอย่างอิสระเป็นเงื่อนไขของการพัฒนาทุกคนอย่างอิสระ”

ข้อมูลอ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/ชนกรรมาชีพ