(25 ส.ค. 2563) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรกลุ่มภาคตะวันออก 1 ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี (กลุ่มจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี) วันที่ 25 ส.ค.นี้ กระทรวงจะได้รายงานภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ ในภาพรวม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ ครม.รับทราบที่แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ยังคงชะลอตัว ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จึงจะเสนอให้พิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่หรือมาตรการอื่นๆในการสนับสนุนเพื่อรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และรองรับสัญญาณแนวโน้มที่คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาพรวม จะเริ่มฟื้นตัวในปี 2564
ล่าสุด จากการเดินทางเยี่ยมชมศูนย์การผลิต ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมิตซูบิชิแจ้งว่า มีแผนจะผลิตรถยนต์มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด และเป็นการผลิตนอก ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ที่จะเปิดตัวในสิ้นปีนี้หรือต้นปี 2564 โดยได้ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่เกี่ยวกับบีโอไอ ที่มิตซูบิชิจะขอปรับเปลี่ยน ดังนั้น ตนจะนำเสนอครม.ครั้งนี้เพื่อพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไร
“มิตซูบิชิมองว่าปี 2564 ตลาดรถยนต์จะเริ่มกลับมาฟื้นตัว จึงได้มีแผนลงทุนไว้ตั้งแต่ปีหน้า เป็นต้นไปรวม 20,000 ล้านบาท อาทิ โรงพ่นสีรถยนต์ 7,500 ล้านบาท และโครงการพัฒนา ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบอีก 13,000 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ก็ได้หารือกับประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ที่ได้เลือกฐานการผลิตเพื่อส่งออกไว้ที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียว เช่นเดียวกับบริษัทจีเอ็มที่เกรท วอล มอเตอร์ส จำกัด ก็จะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในต้นปีหน้า ทำให้เห็นได้ชัดว่า เริ่มมีสัญญาณฟื้นของอุตสาหกรรมยานยนต์”
ขณะเดียวกัน ตนก็จะเสนอ ครม.ให้อนุมัติก่อสร้างโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,383 ไร่ คาดว่าเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 2 ปีหน้า และเปิดดำเนินการได้ในไตรมาส 1 ปี 2567 ใช้เงินลงทุนระยะแรก 2,480 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 7,459 คนส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจ ในพื้นที่ 1,342 ล้านบาทต่อปี
สำหรับความคืบหน้า โครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ ของบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด มูลค่า 300,000 ล้านบาท ใน อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเอ็กซอนโมบิลได้แจ้งขอชะลอโครงการออกไปก่อน ทำให้กระทรวงได้ชะลอการพิจารณาพื้นที่ถมทะเล เพื่อเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนออกไป และให้มองหาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่เป็นพื้นที่อื่นที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้คัดเลือกพื้นที่สำหรับพัฒนาเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไว้ 4 พื้นที่ อาทิ พื้นที่บนบก 1,200 ไร่ ที่ขณะนี้เป็นคลังสินค้า ลานจอดรถเพื่อการส่งออก, พื้นที่บนบก ที่เป็นพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบโรงกลั่นน้ำมัน 5,000 ไร่, พื้นที่ถมทะเลเขาบ่อยา ที่มีเป้าหมายถมทะเล 2,500 ไร่ ขณะที่โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่ กนอ.ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด จะเริ่มถมทะเลในปีหน้า และเปิดบริการปี 2569.