ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ : รวยด้วย Co-Working Space
ในอดีตนักธุรกิจนิยมสร้างอาคารสำนักงานให้ดูดีเพื่อสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนในอัตราที่สูง กว่าจะถึงจุดคุ้มทุนก็ใช้ระยะเวลานาน ส่งผลให้การจะเริ่มต้นมีธุรกิจเป็นของตนเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย จนสามารถทำได้ทุกคน
ต่างกับยุคปัจจุบัน ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและมุมมองของผู้บริโภคให้ต่างจากเดิมอย่างมาก ผู้คนไม่สนใจหน้าร้าน อาคารสำนักงาน มาเป็นตัวตัดสินใจในการซื้อขายสินค้าบริการ โดยบางธุรกิจมีเพียงเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ก็สามารถทำเงินได้แล้ว และหนึ่งในเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สำหรับนักธุรกิจยุคใหม่ คนทำงานอิสระ หรือองค์กร SME ขนาดเล็กในยุคนี้นั่นก็คือ การใช้บริการสำนักงานในรูปแบบ Co-Working Space
Co-Working Space คืออะไร?
Co-Working Space คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รูปแบบใหม่ ด้วยการให้บริการอาคารสำนักงานให้เช่าแบบแชริ่งหรือใช้ร่วมกันกับผู้เช่ารายอื่น โดยจะให้บริการเช่าพื้นที่ทั้งระยะสั้น ระยะยาว แบบรายชั่วโมง รายวัน รายเดือน หรือรายปี ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว มักจะเป็น SME ขนาดเล็ก , นักธุรกิจ Start up หรือคนทำงานอิสระ Freelance ในสาขาอาชีพต่างๆ
ซึ่งการแบ่งพื้นที่ให้เช่า มีทั้งแบบใช้ร่วมกันในพื้นที่ส่วนกลาง หรือแบ่งโซนส่วนตัวแยกไปเฉพาะ และมักคิดราคาตามขนาดพื้นที่ต่อตารางเมตร X ระยะเวลาที่เช่า โดยที่ผู้ให้บริการ Co-Working Space จะจัดตกแต่งพื้นที่ให้สวยงาม ภูมิฐาน สะดวกสบาย บรรยากาศดี และจัดโซนสวัสดิการอาหารเครื่องดื่ม กาแฟ ไว้รองรับผู้ใช้บริการ ให้มีความคล่องตัวและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ผู้ให้บริการ Co-Working Space บางราย มักสร้างเอกลักษณ์ เสริมบริการอื่น หรือสร้างจุดเด่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการแข่งขันทางการตลาดกับผู้ให้บริการ Co-Working Space รายอื่น อาทิ การมีพนักงานส่วนแบ็คอัพสำนักงานไว้คอยให้บริการ อาทิ เลขานุการ ประสานงาน ไว้คอยรับโทรศัพท์ รับส่งแฟกซ์ รับพัสดุสิ่งของ หรือดูแลธุรกรรมต่างๆ ให้กับผู้เช่า เป็นบริการเสริมที่ใช้ร่วมกันและจ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งเรตราคาที่จ่ายก็มีอัตราต่ำและถูกกว่าการจ้างพนักงานประจำมากยิ่งนัก
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในการการทำธุรกิจให้บริการ Co-Working Space นั่นก็คือ การตีโจทย์ทางธุรกิจให้แตกฉาน เราต้องเข้าใจก่อนว่า Co-Working Space ไม่ใช่การขายแค่เพียงพื้นที่ทำงานให้กับลูกค้า ไม่เช่นนั้นเราก็ขาดความต่างและเป็นธุรกิจที่เกลื่อนท้องตลาดรอวันปิดตัว แต่เราต้องสร้างจุดดึงดูดให้กับพื้นที่ ด้วยบริการที่ตอบโจทย์และส่งเสริมธุรกิจการงานให้กับผู้ใช้บริการ ให้เกิดความรู้สึกว่า การเข้ามาใช้บริการพื้นที่ทำงานแห่งนี้จะสร้างโอกาส คอนเน็คชั่น หรือปัจจัยส่งเสริมธุรกิจของเขาให้เติบโตและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น นี่จึงเป็น โจทย์สำคัญทางการตลาดและการดำเนินธุรกิจ ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่า Co-Working Space ของเรานั้น จะรอดหรือจะร่วง
หากนักธุรกิจท่านใด สนใจอยากลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ Co-Working Space ก็นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมในยุคปัจจุบัน