“พาณิชย์” มั่นใจ “ส่งออกไทย” พ้นจุดต่ำสุดแล้ว ด้าน สรท.หวั่นผลโควิดระบาดรอบ 2

เรื่องที่น่าสนใจล่าสุด

(25 สิงหาคม 2563) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือน ก.ค.2563 ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าการส่งออกอของไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.ค.2563 มีมูลค่า 18,819 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 11.37% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หรือในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่มีมูลค่าการส่งออกระหว่าง 16,278-16,444 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้าหักมูลค่าการส่งออกทองคำ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและอาวุธออกจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 12.97%

สำหรับการนำเข้าเดือน ก.ค.2563 มีมูลค่า 15,476 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 26.38%

เมื่อรวมช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 133,162.4 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มูลค่า 119,118.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 14.69% ได้ดุลการค้า 14,044.2 ล้านดอลลาร์

การส่งออกไทยเดือน ก.ค.2563 ติดลบแต่ถือว่าขยายตัวได้ดี ทั้งในส่วนของสินค้าและตลาดส่งออก แต่ถือว่าขยายตัวได้ดีทั้งในส่วนของสินค้า และตลาดส่งออก โดยปัจจัยที่เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกของไทยทั้งสถิติการขนส่งที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค.สะท้อนจากเที่ยวบินพาณิชย์ขนส่งสินค้าและสถิติการใช้ท่าเรือขนส่งสินค้า ที่ผ่านจุดต่ำสุดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง พ.ค.–ก.ค.2563

ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลก และภูมิภาคหรือประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยุโรป และเอเชีย (จีน และไทย) ฟื้นตัวต่อเนื่องใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส

รวมทั้งตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของโลก (Global New Export Orders) เดือน ก.ค.อยู่ที่ 46.9 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในสหรัฐ จีนและยุโรปตะวันตกดีขึ้น

การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นในบางประเทศช่วยสนับสนุนกำลังซื้อและความต้องการสินค้าไทย


สำหรับการส่งออกรายสินค้าของไทยในเดือน ก.ค.นี้ พบว่า

สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร แม้ยังติดลบ 10.9% แต่มีสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 0.8 % น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น 194 % ส่วนสินค้าเกษตรที่ติดลบ ได้แก่ ยางพาราติดลบ 54.1% น้ำตาลทรายติดลบ 42.4%

สินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 10.3% โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 13.3% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนขยายตัว 16.3% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอดขยายตัว 46.8 % ทองคำ ขยายตัว 37.2 % ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ติดลบ เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันติดลบ 24.9% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบติดลบ 30.9% เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบติดลบ 23.3%

ด้านตลาดส่งออกของไทยมูลค่าส่งออกเกือบทุกตลาดหดตัวในอัตราที่ลดลง สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังประเทศคู่ค้าควบคุมโควิด-19 และคลายล็อกดาวน์ ประกอบกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สหรัฐเป็นตลาดเดียวที่เป็นบวก โดยขยายตัวสูงถึง 17.8% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ผลิตภัณฑ์ยางพารา เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อุปกรณ์กึ่งตัวนา ทรานซิสเตอร์และไดโอด รวมถึงเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบที่หดตัวสูงในภาพรวม แต่ในตลาดสหรัฐกลับขยายตัว รวมแล้ว 7 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกไปสหรัฐขยายตัว 4.5%

แต่ตลาดจีนกลับหดตัวเล็กน้อยที่ 2.7% เพราะมีการระบาดรอบ 2 น้ำท่วมที่เมืองอู่ฮั่น จนกระทบต่อการผลิต ส่วนตลาดญี่ปุ่นติดลบ 17.5 % สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ติดลบ 16% อาเซียน (9 ประเทศ) ติดลบ 24.6%

“คาดมูลค่าส่งออกทั้งปีติดลบ 9% ถึงลบ 8% หรือมีมูลค่า 224,105-226,567 ล้านดอลลาร์ หรือมูลค่าส่งออกตั้งแต่เดือน ส.ค.-ธ.ค.นี้ เฉลี่ยเดือนละ 18,188-18,681 ล้านดอลลาร์ แต่หากมูลค่าแต่ละเดือนมากกว่านี้จะติดลบน้อยกว่า 8%“

ทั้งนี้ ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงทั้งการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ที่อาจปิดเมืองและกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจการค้าและการส่งออกของไทย ในขณะที่สงครามการค้าที่ยังไม่ปะทุแต่กำลังคุกรุ่น แต่มีสงครามด้านเทคโนโลยีและสงครามการเงินที่อาจจกระทบการส่งออกไทย รวมทั้งราคาน้ำมันที่แม้ขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงต้นปี แต่ยังไม่สูงมากนัก และค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่ามากขึ้น

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ค.ที่ดีขึ้น ส่งออกได้ 18,819 ล้านเดอลลาร์ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกยังไม่วางใจและยังมีความกังวล

โดยเฉพาะกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในหลายประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญและต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีกังวลเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของเอสเอ็มอีและปัญหาค่าเงินบาท