(25 ส.ค. 2563) นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 63 ไทยมีจำนวนผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ.รวม 80.82 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.38% หรือ 1.1 ล้านราย คิดเป็นเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบกับปี 62 และยังสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่จัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเมื่อปี 51 โดยกว่า 98% เป็นผู้ฝากรายย่อย มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท สาเหตุที่ทำให้มีเงินฝากสูงสุดในรอบ 12 ปี เป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และมีการออมเงินเพื่อสำรองการใช้จ่ายในอนาคตมากขึ้น ประกอบกับความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุน ทำให้ผลตอบแทนลดลง ดังนั้นนักลงทุนจึงโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย
“ปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นในผู้ฝากเกือบทุกกลุ่ม แต่เงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มผู้ฝากบุคคลธรรมดาและผู้ฝากภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และกองทุนต่างๆ ซึ่งขยายตัวในทุกระดับวงเงินฝาก โดยเกือบครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากที่มีวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาท หากดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ระหว่างปี 60-62 เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 60 อยู่ที่ 12.54 ล้านล้านบาท ปี 61 เพิ่มเป็น 13.02 ล้านล้านบาท และปี 62 อยู่ที่ 13.56 ล้านล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม ยังคงติดตามสถานการณ์เงินฝากไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ว่าจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร จากตามปกติอัตราการเติบโตของเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6% แต่ในครึ่งปีแรกปีนี้โตได้ถึง 8% แต่ว่าเชื่อว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะประชาชนยังระวังการใช้จ่าย แต่อาจมีบางส่วนที่ลดเงินฝาก เพื่อลงทุนในทองคำมากขึ้น เพราะราคาทองคำปีนี้ให้ผลตอบแทนสูง ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายนำเงินสดออกมาดำเนินธุรกิจหลังคลายล็อกดาวน์
“ขอย้ำว่า มาตรการคุ้มครองเงินฝากที่เป็นบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทภายในประเทศ มีความมั่นคงสูง ครอบคลุมบัญชีของผู้ฝากบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในสถาบันการเงินภายใต้การคุ้มครองทั้ง 35 แห่ง หากสถาบันการเงินภายใต้คุ้มครองถูกปิดกิจการ สคฝ.จะคืนเงินฝากภายใน 30 วัน ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาท มีเงินกองทุนสูงถึง 129,000 ล้านบาท”.